“ใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป" (เทียบ ลก 24:13-35) ....สารวันแพร่ธรรม ปี 2023....

สาส์นวันแพร่ธรรมสากลของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16
วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม 2554/2011
“พระบิดาส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน. 20: 21)

            ในโอกาสปีปีติมหาการุญ ค.ศ. 2000 และเมื่อเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่แห่งคริสตศักราช สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงทรงกล่าวยืนยันไว้อย่างหนักแน่นถึงความจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นกันใหม่ในหน้าที่ที่จะต้องนำเอาการประกาศข่าวดีไปสู่มนุษย์ทุกคน “ความกระตือรือร้นของคริสตชนรุ่นแรก” (สมณลิขิต Novo Millennio Ineunte, 58)  เป็นการรับใช้ที่มีคุณค่ามากที่สุดเท่าที่พระศาสนจักรจะมอบให้มนุษยชาติและปัจเจกชนทุกคนผู้แสวงหาเหตุผลล้ำลึกในการดำเนินชีวิตให้เกิดคุณค่ามากที่สุด   เพราะฉะนั้น การเชื้อเชิญเดียวกันนี้ยังคงสะท้อนก้องกังวานขึ้นทุกปีในโอกาสเฉลิมฉลองวันแพร่ธรรมสากลเวียนมาถึง   ความจริงแล้ว  การประกาศข่าวดีอย่างไม่มีการว่างเว้นยังเป็นการฟื้นฟูชีวิต ความร้อนรน และจิตตารมย์แห่งการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรด้วย  ช่วยให้มีการทบทวนกระบวนการอภิบาลของพระศาสนจักรเพื่อที่กระบวนการต่างๆเหล่านี้จะได้มีความเหมาะสมคู่ควรกับสถานการณ์ใหม่ๆ  ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ต้องการการประกาศข่าวดีแบบใหม่ และการประกาศดังกล่าวจะได้เปี่ยมล้นด้วยกิจกรรมธรรมทูต “งานธรรมทูตรื้อฟื้นชีวิตพระศาสนจักร ทำให้ความเชื่อมีชีวิตชีวา ทำให้อัตลักษณ์ของคริสตชนเป็นที่ประจักษ์ และสร้างความกระตือรือร้นรวมถึงความคิดริเริ่มใหม่ๆด้วย   ความเชื่อจะได้รับการค้ำชูเมื่อความเชื่อถูกนำไปมอบให้กับผู้อื่น!  เป็นความตั้งใจในการทำพันธกิจสากลของพระศาสนจักรที่การประกาศข่าวดีแบบใหม่ของบรรดาคริสตชนจะได้รับแรงบันดาลใจและการสนับสนุน” (พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 สมณสาส์น  Redemptoris Missio ข้อ 2)

จงไปทำการประกาศ
            เป้าหมายประการนี้จะได้รับการฟื้นฟูอย่างสม่ำเสมอด้วยการเฉลิมฉลองพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ซึ่งจบลงด้วยการตอกย้ำพระบัญชาของพระเยซูผู้ทรงเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพที่มีต่ออัครสาวกเสมอว่า “จงไป...” (มธ. 28: 19)  พิธีกรรมเป็นการเรียกร้อง ‘จากโลก’ และเป็นการส่งออกไปใหม่ ‘สู่โลก’ เพื่อที่จะเป็นประจักษ์พยานถึงสิ่งที่ตนได้รับประสบการณ์มานั่นคือ อำนาจการไถ่กู้แห่งพระวาจาของพระเจ้า  อำนาจการไถ่กู้แห่งธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า  ทุกคนที่ได้พบกับพระเจ้าผู้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพต่างรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการประกาศพระองค์ให้ผู้อื่นทราบ เฉกเช่นอัครสาวก 2 ท่านที่เดินทางไปยังเมืองเอมมาอุส  หลังจากที่จำพระเยซูผู้ทรงบิปังได้ พวกเขาก็ “ออกเดินทางไปยังนครเยรูซาเล็มทันที ณ ที่นั้นเขาพบอัครสาวกทั้ง 11 คนกำลังชุมนุมกันอยู่” จึงเล่าให้สาวกเหล่านั้นทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาบนทางเดินสู่เยรูซาเล็ม (ลก. 24: 33-34)  สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเตือนเราให้ “ระมัดระวัง แล้วพร้อมที่จะจดจำพระพักตร์ของพระองค์ แล้วรีบนำข่าวดีไปบอกกับบรรดาพี่น้องชายหญิงของเราว่า เราได้พบกับพระคริสตเจ้าแล้ว” (สมณลิขิต Novo Millennio Ineunte ข้อ 59)

สาส์นถึงทุกคน
              ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการประกาศข่าวดี คือ มนุษย์ทุกคน  พระศาสนจักรเป็น “ธรรมทูตโดยธรรมชาติของตัวเอง เพราะจากพันธกิจของพระบุตรและพระจิต พระศาสนจักรจึงเกิดขึ้น  ซึ่งเป็นไปตามพระบัญชาแห่งพระบิดาเจ้า” (สังคายนาวาติกัน 2 Ad Gentes ข้อ 2)  นี่คือ “พระหรรษทานและกระแสเรียกจำเพาะและเป็นอัตลักษณ์ล้ำลึกที่สุดของพระศาสนจักร  พระศาสนจักรดำรงอยู่เพื่อทำการประกาศข่าวดี” (พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 Evangelii Nuntiandi ข้อ 14)  ผลที่ตามมาคือ พระศาสนจักรมิอาจที่จะอยู่นิ่งเฉยได้  พระศาสนจักรมีรากฐานอยู่ในกรอบพิเศษเพื่อที่จะออกไปนอกกรอบนี้  การกระทำของพระศาสนจักรที่ดำเนินไปด้วยการนอบน้อมต่อพระบัญชาของพระคริสตเจ้าภายใต้อิทธิพลแห่งพระหรรษทานและความรักของพระองค์ เพื่อที่จะได้ปรากฏอย่างแท้จริงและอย่างเต็มเปี่ยมต่อมนุษย์ชายหญิงและประชากรทุกคน เพื่อที่จะได้นำพาพวกเขาไปสู่ความเชื่อในพระคริสตเจ้า (เทียบ Ad Gentes ข้อ 5)

               ความเร่งด่วนแห่งพันธกิจนี้มิได้ลดหย่อนลงไปเลย ความจริง “พันธกิจของพระคริสตเจ้าพระผู้ไถ่ ซึ่งถูกนำมามอบให้พระศาสนจักร ยังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จมาก...  หากจะพิจารณากันถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์โดยทั่วไปแล้ว เราจะเห็นว่าพันธกิจนี้พึ่งจะเริ่มต้นด้วยซ้ำไป ซึ่งเราจะต้องอุทิศตนเองอย่างสุดตัวให้กับการรับใช้พันธกิจนี้” (พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 สมณสาส์น  Redemptoris Missio ข้อ 1)  เรามิอาจที่จะพึงพอใจได้หากจะพิจารณาว่า หลังสองพันปีผ่านไปยังมีประชากรมากมายที่ไม่รู้จักพระคริสตเจ้าและยังไม่เคยได้ยินได้ฟังสาส์นแห่งการไถ่กู้ของพระองค์

               ไม่เพียงแต่เท่านี้ ยังมีประชากรจำนวนมากซึ่งแม้แต่จะได้รับการประกาศข่าวดีแล้วต่างพากันลืมหรือทิ้งไปและไม่สังกัดอยู่ในพระศาสนจักรอีกต่อไป  อีกทั้งในหลายๆภาคส่วนแม้ในสังคมที่เป็นคริสตชนมาตั้งแต่ดั้งเดิมทุกวันนี้ก็ไม่ยอมเปิดใจให้กับพระวาจาแห่งความเชื่ออีกต่อไป  วัฒนธรรมต่างๆกำลังเปลี่ยนไป มนุษย์กำลังถูกหล่อเลี้ยงด้วยพฤติกรรมโลกาภิวัตน์ ด้วยกระบวนความคิด และด้วยลัทธิอนุโลมนิยม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่นำจิตตารมย์และวิถีชีวิตที่ไม่สนใจใยดีต่อสาส์นแห่งข่าวดี ทำราวกับว่าพระเจ้าไม่มีตัวตน ซึ่งทำให้มนุษย์ยกย่องการแสวงหาการอยู่ดีกินดี การที่จะได้เงินทองมาอย่างง่ายๆ ถือว่าอาชีพและความสำเร็จคือเป้าหมายแห่งชีวิต แม้คุณค่าแห่งศีลธรรมจะจะเสื่อมโทรมก็ตามที

ความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน
              พันธกิจแพร่ธรรมหมายถึงทุกคนทุกสิ่งและเสมอไป  ข่าวดีมิใช่เป็นสิทธิหรือสมบัติจำเพาะของผู้ที่ได้รับมา แต่เป็นของขวัญที่จะต้องแบ่งปันกัน  ข่าวดีนี้จะต้องส่งมอบต่อไปให้ผู้อื่น  ของขวัญและหน้าที่นี้ถูกนำมามอบไม่ใช่สำหรับคนบางคนเท่านั้น แต่สำหรับทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาป  ผู้ที่เป็น “ประชาชาติที่ทรงเลือกสรรไว้... เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรที่เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษของพระเจ้า” (1 ปต. 2 : 9)  เพื่อประกาศพระฤทธานุภาพของพระองค์

              กิจกรรมทุกอย่างต้องมีจุดศูนย์รวมไปยังประเด็นนี้  ความมุ่งมั่นและความร่วมมือของพระศาสนจักรเกี่ยวกับงานธรรมทูตในโลกไม่อาจที่จะจำกัดอยู่แค่บางช่วงบางโอกาสและไม่อาจที่จะถือว่าเป็นงานชิ้นหนึ่งของกิจกรรมอภิบาลที่มีหลายอย่างได้  มิติงานธรรมทูตของพระศาสนจักรเป็นสิ่งจำเป็น  ดังนั้นจำต้องจดจำใส่ใจเอาไว้เสมอ  เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ทั้งผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปและชุมชนพระศาสนจักรจะต้องมีส่วนร่วมไม่ใช่เพียงครั้งเดียวหรือในบางโอกาสเท่านั้น แต่จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอดุจเป็นหนทางแห่งชีวิตคริสตชน  วันแพร่ธรรมมิใช่เป็นแค่วันพิเศษวันเดียวในรอบปี แต่เป็นโอกาสที่เราจะต้องหยุดไตร่ตรองว่า เราได้ตอบสนองต่อกระแสเรียกแห่งการเป็นธรรมทูตในฐานะที่เป็นการตอบสนองที่สำคัญที่สุดเพื่อชีวิตของพระศาสนจักรอย่างไร

การประกาศข่าวดีทั่วโลก
               การประกาศข่าวดีเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและรวมปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน  หนึ่งนั้นคือแรงบันดาลใจ งานธรรมทูตนั้นต้องใส่ใจเป็นพิเศษเสมอในเรื่องของการเอื้ออาทร นี่คือเป้าหมายอีกประการหนึ่งของวันแพร่ธรรมสากลด้วย  ซึ่งโดยสมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม(PMS : Pontifical Mission Societies) มีการวิงวอนขอความช่วยเหลือให้ทำการประกาศข่าวดีต่อไปในดินแดนธรรมทูต  ทั้งนี้หมายถึงให้การสนับสนุนสถาบันอันเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดตั้งและผนึกพลังของพระศาสนจักรโดยอาศัยครูสอนคำสอน บ้านเณร พระสงฆ์ รวมถึงการให้ทานเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศที่มีความยากจน การขาดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดอาหารของเด็ก โรคาพยาธิ ขาดบริการสาธารณสุขและการศึกษาที่ยังอยู่ในสภาพที่ยังน่าเป็นห่วง  เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งพันธกิจของพระศาสนจักร  ในการประกาศข่าวดีพระศาสนจักรให้ความสำคัญเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์อย่างยิ่ง  พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ข้ารับใช้ของพระเจ้า ประกาศว่า ในการประกาศข่าวดีนั้น เรื่องการส่งเสริมชีวิตมนุษย์ ความยุติธรรม การปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากการกดขี่ ซึ่งแน่ชัดว่าพาดพิงไปถึงมิติการเมืองด้วยนั้นจะละเลยเสียมิได้  การไม่สนใจใยดีต่อปัญหาฝ่ายวัตถุของมนุษย์จะเท่ากับเป็นการ “ไม่จำบทเรียนที่ข่าวดีนำมามอบให้เราเกี่ยวกับความรักต่อเพื่อนบ้านผู้ที่กำลังมีทุกข์และมีความเดือดร้อน” (สมณลิขิตเตือน Evangelii Nuntiandi  ข้อ 31, 34; มธ. 9: 35)    |


                 ดังนั้นอาศัยการมีส่วนร่วมแบบรับผิดชอบด้วยกันในพันธกิจของพระศาสนจักร คริสตชนจะกลายเป็นผู้สร้างสายสัมพันธ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันแห่งสันติและความเอื้ออาทรที่พระคริสตเจ้าทรงนำมามอบให้แก่เรา แล้วเขาก็จะเป็นผู้ร่วมงานในการทำให้แผนการไถ่กู้ของพระเจ้าสำหรับทุกคนสำเร็จลุล่วงไป  สิ่งท้าทายเหล่านี้เรียกร้องบรรดาคริสตชนให้ต้องเดินทางร่วมกันกับผู้อื่น และพันธกิจการแพร่ธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งการเดินทางนี้  ในการเดินทางนั้นแม้จะเป็นการเดินทางในภาชนะดินเผา เราก็นำเอากระแสเรียกคริสตชนของเราซึ่งเป็นขุมทรัพย์ประเสริฐแห่งข่าวดี ให้เป็นประจักษ์พยานทรงชีวิตต่อพระเยซูผู้ทรงสิ้นพระชนม์และเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพให้เป็นที่รู้จักและเชื่อในพระศาสนจักร
 
               ขอให้วันแพร่ธรรมสากลปลุกความชื่นชมยินดีและความปรารถนาในแต่ละคนให้ “ออกไป” พบกับมนุษย์โดยการนำพระคริสตเจ้าไปให้ทุกคน ในพระนามของพระองค์ข้าพเจ้าขออำนวยพรมายังทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหนักและทนทุกข์มากที่สุดเพื่อเห็นแก่ข่าวดี

 จากนครวาติกัน วันที่ 6 มกราคม 2011 วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์

พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16


แปลโดย ว. ประทีป

ผู้อํานวยการ PMS ประเทศไทย

คุณพ่อเปาโล ไตรรงค์  มุลตรี ผู้อํานวยการ สมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม (PMS)ประเทศไทย
คุณพ่อเปาโล ไตรรงค์  มุลตรี
ผู้อํานวยการ
สมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรม
(PMS)ประเทศไทย


LINKS

www.ppoomm.v

http://www.catholicmission.org.au/http://www.missionsocieties.ca/www.pms-phil.orgwww.missio.org.mthttp://www.obrasmisionalespontificias.es/คณะธรรมทูตไทย

สถิติการเยี่ยมชม

14530783
Today
Yesterday
This Week
This Month
All days
45
409
1146
7378
14530783
Your IP: 3.15.219.217
2024-04-25 02:23