บทที่ 7 กลุ่มเป้าหมายของการประกาศข่าวดี

1.จุดประสงค์
      1. เพื่อให้สมาชิกสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายเพื่อการประกาศข่าวดีได้
      2. เพื่อให้สมาชิกตระหนักถึงหน้าที่ของการประกาศข่าวดีของตน
      3. เพื่อให้สมาชิกสวดภาวนาเพื่อการประกาศข่าวดีให้กลุ่มเป้าหมายทั้งสาม

การสร้างบรรยากาศ จุดประสงค์ และการรายงานการประชุมและการเงิน
    1. สร้างบรรยากาศ ด้วยการร้องเพลงของสมณองค์กรยุวธรรมทูต ชุด เพื่อนช่วยเพื่อน 1 เพลง
    2. ภาวนาเริ่มการประชุม ฝึกให้สมาชิกภาวนาด้วยท่าทีที่ถูกต้องและภาวนาอย่างตั้งใจ เช่น เชิญชวนให้ก้มศีรษะ
    3. เกริ่นนำถึงจุดประสงค์ คือสิ่งที่เราจะเรียนรู้ในวันนี้  ดังนั้นในการประชุมแต่ละครั้ง ผู้นำควรชี้ให้สมาชิกเห็นประเด็นที่สำคัญ ให้เด็ก ๆ สามารถจดจำ และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
    4. รายงานการประชุมและการเงิน จากการประชุมในครั้งที่ผ่านมา

2. ประสบการณ์        
 1. ให้สมาชิกเล่นเกมจับกลุ่มตามลักษณะที่ผู้นำสั่ง เช่น ให้จับกลุ่มตามความสูง ใครสูงเท่ากัน
ให้จับกลุ่มอย่างน้อย 2 คน ใครมีชื่อคล้ายกันให้จับกลุ่มกัน บ้านใกล้กัน ใส่เสื้อสีคล้ายกัน ฯลฯ
2. จากนั้นให้ผู้นำเขียน กลุ่มเป้าหมายของการประกาศข่าวดี 3 กลุ่ม ดังนี้
        1) ผู้ที่ยังไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้า
        2) คริสตชนที่ดีแล้ว
        3) บุคคลที่ล้างบาปแล้วแต่ไม่ได้มาวัด
แล้วใช้ข้อมูลเนื้อหาเพื่ออธิบาย


3. คำสอนธรรมทูต  
  
กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย คริสตศักราช 2015 ข้อ 16 ได้ระบุถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อการประกาศข่าวดีออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

    1.“ผู้ที่ยังไม่รู้จักพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ที่ไม่ยอมรับ และผู้ที่ปฏิเสธพระองค์ในทุกภาคส่วนของพระศาสนจักรและสังคม” (Ad Gentes) บุคคลเหล่านี้  ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีความหิวกระหายลึก ๆในจิตใจ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่จะแสวงหาความจริงสูงสุดในวิถีทางต่าง ๆ พวกเขาทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับข่าวดี ได้รู้จักพระเจ้าเที่ยงแท้ ดังนั้น พระศาสนจักรจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เสมอทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อนำเสนอข่าวดีแก่พวกเขา ให้พวกเขามีความชื่นชมยินดีในการได้พบและมีประสบการณ์ความรักเมตตาของพระเจ้า จนกระทั่งปรารถนาเข้ามาเรียนรู้จักพระคริสตเจ้า และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระเจ้าในพระอาณาจักรของพระองค์

    2. “คริสตชนที่มาร่วมพบปะเป็นประจำและผู้ที่มาชุมนุมกันในวันพระเจ้า” พระศาสนจักรจำเป็นต้องเอาใจใส่อภิบาลพวกเขาเหล่านี้ ให้ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา ศีลศักดิ์สิทธิ์ และการเข้าร่วมชุมนุมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชนความเชื่อ ร่วมอธิษฐานภาวนาพร้อมกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตในความเชื่ออย่างแท้จริง จนสามารถตอบสนองความรักของพระเจ้าได้ดียิ่งขึ้น พร้อมเจริญชีวิตเป็นแบบอย่าง เป็นแสงสว่าง และกล้าหาญที่จะออกไปเป็น “ศิษย์ธรรมทูต” ที่เข้มแข็ง กระตือรือร้นในการประกาศข่าวดีด้วยความชื่นชมยินดีเสมอ

    3. “บุคคลที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วแต่มิได้ดำเนินชีวิตตามพันธกิจของศีลล้างบาป และมิได้รับความบรรเทาใจแท้จริงจากความเชื่อโดยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม” พระศาสนจักรในฐานะมารดาผู้เอาใจใส่มีพันธกิจเร่งด่วนที่จะช่วยให้คริสตชนเหล่านี้ ได้สัมผัสความรักและความเมตตาของพระเจ้า ได้รับความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร และปรารถนาที่จะผูกมัดตนเองกับพระคริสตเจ้า  เป็นหนึ่งเดียวกับสมาชิกของพระศาสนจักร เพื่อพร้อมที่จะดำเนินชีวิตเป็นเกลือดองแผ่นดิน เป็นแสงสว่างส่องโลก และเป็นเชื้อแป้งที่มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป

4. พระคัมภีร์และการไตร่ตรอง
ให้สมาชิกศึกษาพระคัมภีร์จากหนังสือกิจการอัครสาวก (กจ. 8:4-8) เรื่องฟิลิปในแคว้นสะมาเรีย
    “บรรดาผู้ที่กระจัดกระจายไปเหล่านี้ออกไปยังที่ต่าง ๆ ประกาศพระวาจาเป็นข่าวดี ฟิลิปไปเมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรียและประกาศเรื่องพระคริสตเจ้าให้ชาวเมืองนั้นฟัง ประชาชนที่ได้ฟังถ้อยคำของฟิลิป และเห็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่เขากระทำ ก็พร้อมใจกันฟังคำสั่งสอนของเขา คนหลายคนที่ถูกปีศาจชั่วร้ายสิงอยู่ร้องเสียงดังแล้วปีศาจก็ออกไป คนอัมพาตและคนง่อยจำนวนมากหายจากโรค ประชาชนในเมืองนั้นจึงชื่นชมอย่างมาก”

คำถามเพื่อการไตร่ตรอง (อาจจะยากสักนิด ผู้นำต้องช่วยให้เด็กได้ฝึกไตร่ตรองด้วย)
     1) พระคัมภีร์ตอนนี้สรุปสาระสำคัญได้ว่าอย่างไร (บรรดาคริสตชนที่ถูกเบียดเบียน ต่างแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ และไปประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าให้กับคนรอบข้าง......)
     2) เมื่อได้อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไร (ประทับใจในความเลื่อมใสศรัทธาของคริสตชนในสมัยนั้น)
     3)  เมื่อได้อ่านเรื่องนี้แล้วได้รับประโยชน์อะไรบ้าง (มีกำลังใจและคิดว่าเราน่าจะประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าได้เช่นกัน เพราะมีเพื่อนต่างความเชื่อมากมาย)
     4) ถ้าไม่ได้อ่านเรื่องนี้จะมีผลเสียอย่างไรบ้าง (อยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร ไม่มีแรงบันดาลใจ ไม่มีตัวอย่างที่ดี)
     5) เราแต่ละคนมีอะไรต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามที่พระคัมภีร์สอนเราหรือไม่ อย่างไร (กล้าที่จะประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้ามากขึ้น เพราะยังมีคนที่ไม่รู้จักพระเยซูเจ้ามากมาย)
     6) การเรียนรู้เรื่อง กลุ่มเป้าหมายของการประกาศข่าวดี และการอ่านพระคัมภีร์ (กจ. 8:4-8) ทำให้เรารู้จักพระเจ้าของเรามากขึ้นอย่างไร (พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของทุกคน แม้ว่าจะมีคนหลายประเภท พระเจ้าทรงรอคอย ไม่ทรงบังคับใครให้มาเชื่อพระองค์ แต่ให้โอกาสผู้อื่นได้มารู้จักพระองค์ด้วยวิธีการต่าง ๆ)

5. ชีวิตจิตธรรมทูต
ผู้นำ  นำการภาวนาสายประคำธรรมทูต โดยการสวดบทวันทามารีย์ 10 บท
1. เพื่อให้คนทั้งสามกลุ่ม ซึ่งได้แก่ คนที่ไม่รู้จักพระเจ้าได้มีโอกาสรู้จักพระเจ้า คริสตชนที่ดีได้มาช่วยงานประกาศข่าวดี และคริสตชนที่ล้างบาปแล้วแต่เหินห่างวัดจะได้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น
2. ภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่องานแพร่ธรรม

6. ธรรมทูตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (ชีวิตกลุ่ม)
1.  ให้สมาชิกได้พักสักครู่
2.  รับประทานอาหารว่างร่วมกัน (โดยผู้นำอาจเตรียมขนม นมกล่อง ไว้เพื่อแจกสมาชิก)

7. ธรรมทูตรับใช้ (ปฏิบัติ)
     1) รายงานกิจการดีที่สมาชิกแต่ละคนได้ตั้งใจกระทำ จากการพบปะในครั้งที่ผ่านมา
     2) ให้สมาชิกประชุมกันว่าจะประกาศข่าวดีด้วยการกระทำ 1 อย่าง ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ไปและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเขา (ให้เลขาจดบันทึกไว้เพื่อการรายงานในการพบปะครั้งต่อไป)
     3) ให้สมาชิกถวายเงินเล็กน้อยเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กที่มีความยากลำบากกว่าตนเอง (เตรียมกระปุกออมสินของกลุ่มไว้เพื่อใส่เงิน)
     4) นัดหมายการพบปะครั้งต่อไป

8. ภาวนาปิด
บทภาวนาวอนขอพระพรเพื่อเข้าใจ รัก และดำเนินชีวิต ตามกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ฯ ค.ศ. 2015
“ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่”

::::: Download บทภาวนา :::::