“ใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป" (เทียบ ลก 24:13-35) ....สารวันแพร่ธรรม ปี 2023....

บทที่ 13 ศาสนจักรสัมพันธ์บทที่ 13 ศาสนจักรสัมพันธ์

1.จุดประสงค์
     1. เพื่อให้สมาชิกเรียนรู้และบอกหลักคำสอนที่สำคัญ และแนวปฏิบัติของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามได้
     2. เพื่อให้สมาชิกให้ความเคารพต่อเพื่อนที่นับถือต่างศาสนาของตนเอง
     3. เพื่อให้สมาชิกร่วมมือกับเพื่อนต่างศาสนาในการทำกิจเมตตาอย่างน้อย 1 ประการ

การสร้างบรรยากาศ จุดประสงค์ และการรายงานการประชุมและการเงิน
    1. สร้างบรรยากาศ ด้วยการร้องเพลงของสมณองค์กรยุวธรรมทูต ชุด เพื่อนช่วยเพื่อน 1 เพลง
    2. ภาวนาเริ่มการประชุม ฝึกให้สมาชิกภาวนาด้วยท่าทีที่ถูกต้องและภาวนาอย่างตั้งใจ เช่น เชิญชวนให้ก้มศีรษะ
    3. เกริ่นนำถึงจุดประสงค์ คือสิ่งที่เราจะเรียนรู้ในวันนี้  ดังนั้นในการประชุมแต่ละครั้ง ผู้นำควรชี้ให้สมาชิกเห็นประเด็นที่สำคัญ ให้เด็ก ๆ สามารถจดจำ และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
    4. รายงานการประชุมและการเงิน จากการประชุมในครั้งที่ผ่านมา

2. ประสบการณ์          
  
1. ผู้นำถามสมาชิกว่าคนไทย นับถือศาสนาใดกันบ้าง สมาชิกรู้จักศาสนาอะไรบ้าง
    2. ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความเสรีในด้านการนับถือศาสนา คนไทยจึงเลือกนับถือศาสนาต่าง ๆ ได้ตามความสมัครใจ โดยประชากรส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งก็ได้นับถือสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นรากฐานของความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีส่วนใหญ่ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประชากรไทยประมาณร้อยละ 94 นับถือศาสนาพุทธ โดยส่วนใหญ่เป็นนิกายเถรวาท และประมาณร้อยละ 5 นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง โดยร้อยละ 99 ของมัสยิดในประเทศไทยเป็นนิกายสุหนี่ ส่วนมัสยิดนิกายชีอะห์มีเพียงร้อยละ 1 สำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาคริสต์มีประมาณ 4 แสนกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ มีทั้งนิกายคาทอลิก โปรเตสแตนต์ และเซเวนเดย์ แอดเวนติสต์ ส่วนชาวซิกข์มีประมาณ 70,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่นเชียงใหม่ นครราชสีมา พัทยา และภูเก็ต มีโบสถ์ซิกข์อยู่ทั้งหมด 19 แห่งทั่วประเทศ ส่วนผู้นับถือศาสนาฮินดูมีถึงประมาณ 1 หมื่นคน นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นับถือศาสนาและลัทธิอื่น ๆ เช่น เต๋า ขงจื้อ และยิว รวมทั้งชาวไทยภูเขาอีก 9 เผ่า จำนวนประมาณ 920,000 คน ที่นับถือศาสนาแตกต่างกันไป     (อ้างอิงจาก https://thai.tourismthailand.org/เกี่ยวกับประเทศไทย/ศาสนา  เข้าถึงวันที่ 3 เมษายน 2018)
    3. นำเสนอท่าทีของเราต่อศาสนาอื่นตามคำสอนจากกฤษฎีกา


3. คำสอนธรรมทูต  
  
    กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย คริสตศักราช 2015 ข้อที่ 31 เน้นให้คริสตชนทุกคน รวมถึงเด็กและเยาวชน ได้มีทัศนคติที่ดีและเสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้อง   ที่นับถือศาสนาต่างไปจากตนเอง ที่เรียกว่า “ศาสนสัมพันธ์”
    ทั้งนี้ เพราะว่าคริสตชนคาทอลิกทุกคนในประเทศไทย ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางพี่น้องที่นับถือศาสนาอื่น   ศาสนสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง   ดังนั้น เราต้องเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือประกาศข่าวดี ด้วยการดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานถึงความรักและความเมตตาของพระเยซูเจ้า และปฏิบัติพันธกิจการเสวนา (ติดต่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น การร่วมกิจกรรม) ใช้ชีวิตด้วยความเคารพและให้เกียรติด้วยใจจริง ตามสภาพสังคมและวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่เอกภาพ ความรัก ความจริงและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า

4. พระคัมภีร์และการไตร่ตรอง
      ให้สมาชิกศึกษาพระคัมภีร์จากหนังสือกิจการอัครสาวก (กจ. 17:22-27) เรื่อง คำปราศรัยของเปาโลต่อหน้าอภิรัฐสภา
        “เปาโลยืนอยู่ตรงกลางที่ประชุมอภิรัฐสภาพูดว่า “ชาวเอเธนส์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าพบว่าท่านมีความเลื่อมใสในศาสนามากจริง ๆ เมื่อข้าพเจ้าเดินชมเมือง สังเกตเห็นปูชนียวัตถุต่าง ๆ ของท่าน พบแท่นบูชา     แท่นหนึ่ง มีคำจารึกว่า “แด่พระเจ้าที่เราไม่รู้จัก” ข้าพเจ้ามาประกาศให้ท่านรู้จักพระเจ้าองค์นี้ที่ท่านเคารพทั้ง ๆ ที่ท่านไม่รู้จัก พระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกและทรงสร้างทุกสิ่งที่อยู่ในโลก พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของสวรรค์และแผ่นดิน พระองค์ไม่สถิตในวิหารที่มือมนุษย์สร้างขึ้น พระองค์ไม่ทรงต้องการการปรนนิบัติจากมือมนุษย์ประหนึ่งว่าพระองค์ทรงขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต ลมหายใจ และทุกสิ่งให้แก่มนุษย์ทุกคน พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ทุกชาติสืบเชื้อสายมาจากมนุษย์คนเดียว และทรงทำให้เขาทั้งหลายอยู่ทั่วพื้นแผ่นดิน โดยทรงกำหนดช่วงเวลาและขอบเขตให้เขาอยู่พระเจ้าทรงกระทำดังนี้ เพื่อให้มนุษย์แสวงหาพระเจ้าแม้จะต้องคลำหา เขาก็ยังพบพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงอยู่ไม่ห่างจากเราแต่ละคน”

คำถามเพื่อการไตร่ตรอง (อาจจะยากสักนิด ผู้นำต้องช่วยให้เด็กได้ฝึกไตร่ตรองด้วย)
1) พระคัมภีร์ตอนนี้สรุปสาระสำคัญได้ว่าอย่างไร (นักบุญเปาโลประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าให้ชาวเอเธนส์ได้รู้จักพระเจ้า ฐานะพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และประกาศว่าทุกคนต่างมีเชื้อสายเดียวกัน เพื่อให้คนทั่วไปได้แสวงหาพระองค์)
2) เมื่อได้อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกอย่างไร (รู้สึกได้ว่ามนุษย์ทุกคนแสวงหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ จึงมีเทพเจ้าต่าง ๆ หรือลัทธิศาสนาต่าง ๆ เกิดขึ้น พวกเขายังไม่รู้จักพระเจ้า จึงจำเป็นต้องมีคนแนะนำ)
3) เมื่อได้อ่านเรื่องนี้แล้วได้รับประโยชน์อะไรบ้าง (รู้วิธีเข้าหาหรือรู้จักพระเจ้า โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แค่ลมหายใจ ชีวิตจิตใจที่เรามี ก็ทำให้เราได้สัมผัสความรักของพระเจ้าแล้ว)
4) ถ้าไม่ได้อ่านเรื่องนี้จะมีผลเสียอย่างไรบ้าง (เราอาจไม่สนใจ หรือให้ความสำคัญกับคุณค่าของศาสนาอื่น ๆ)
5) เราแต่ละคนมีอะไรต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เป็นไปตามที่พระคัมภีร์สอนเราหรือไม่ อย่างไร (สนใจเรียนรู้สิ่งที่ดีของศาสนาอื่น ๆ ให้ความเคารพและร่วมมือกัน)
6) การเรียนรู้เรื่อง ศาสนสัมพันธ์ และการอ่านพระคัมภีร์ (กจ. 17:22-27) ทำให้เรารู้จักพระเจ้าของเรามากขึ้นอย่างไร (พระเจ้าทรงประทับอยู่กับทุกคนและในทุกศาสนา ความดีที่ซ่อนอยู่ในศาสนาต่าง ๆ เป็นเสมือนเชื้อแห่งความดีและความจริงที่ทำให้เราร่วมมือกันได้กับทุกศาสนา)


5. ชีวิตจิตธรรมทูต

ผู้นำ  นำการภาวนาสายประคำธรรมทูต โดยการสวดบทวันทามารีย์ 10 บท
1. เพื่อให้ศาสนาต่าง ๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความเคารพต่อกันและกัน และร่วมมือกันในการทำให้สังคมมีความสุข
2. ภาวนาตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่องานแพร่ธรรม

6. ธรรมทูตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน (ชีวิตกลุ่ม)
1.  ให้สมาชิกได้พักสักครู่
2.  รับประทานอาหารว่างร่วมกัน (โดยผู้นำอาจเตรียมขนม นมกล่อง ไว้เพื่อแจกสมาชิก)

7. ธรรมทูตรับใช้ (ปฏิบัติ)
     1) รายงานกิจการดีที่สมาชิกแต่ละคนได้ตั้งใจกระทำ จากการพบปะในครั้งที่ผ่านมา
     2) ให้สมาชิกประชุมกันว่าจะประกาศข่าวดีด้วยการกระทำ 1 อย่าง ที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ไปและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเขา (ให้เลขาจดบันทึกไว้เพื่อการรายงานในการพบปะครั้งต่อไป)
     3) ให้สมาชิกถวายเงินเล็กน้อยเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กที่มีความยากลำบากกว่าตนเอง (เตรียมกระปุกออมสินของกลุ่มไว้เพื่อใส่เงิน)
     4) นัดหมายการพบปะครั้งต่อไป

8. ภาวนาปิด
บทภาวนาวอนขอพระพรเพื่อเข้าใจ รัก และดำเนินชีวิต ตามกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ฯ ค.ศ. 2015
“ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่”

::::: Download บทภาวนา :::::

LINKS

www.ppoomm.v

http://www.catholicmission.org.au/http://www.missionsocieties.ca/www.pms-phil.orgwww.missio.org.mthttp://www.obrasmisionalespontificias.es/คณะธรรมทูตไทย

สถิติการเยี่ยมชม

14522061
Today
Yesterday
This Week
This Month
All days
382
180
1095
7083
14522061
Your IP: 3.237.65.102
2024-03-28 22:33