“ใจที่เร่าร้อนเป็นไฟ เท้าต้องก้าวเดินไป" (เทียบ ลก 24:13-35) ....สารวันแพร่ธรรม ปี 2023....

บทเทศน์ในพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณ โดย พระคาร์ดินัล แฟร์นันโด ฟิโลนี่
บทเทศน์ในพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณ

โดย พระคาร์ดินัล แฟร์นันโด ฟิโลนี่
โอกาสครบ 350 ปีแห่งการสถาปนามิสซังสยาม (1669-2019)
อาคารยอห์น ปอล ที่ 2 สามพราน
วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2019

:::: Download ::::

“นี่เป็นวันที่พระเจ้าทรงประทานให้เกิดขึ้น เราจงชื่นชมยินดีเถิด อัลเลลูยา”
พี่น้องชายหญิงที่รักในพระคริสตเจ้า
    ขอให้สันติสุข และความชื่นชมยินดีแห่งพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับฟื้นพระชนม์สถิตกับท่าน
    ในเทศกาลปัสกาอันน่าชื่นชมนี้เรามาพร้อมหน้ากันเพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญในชีวิตพระศาสนจักรในประเทศอันเป็นที่รักของเรา นั่นคือการสถาปนามัสซังสยามเมื่อ 350 ปีที่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระศาสนจักรท้องถิ่นในประเทศไทย
    ในโอกาสที่น่าชื่นชมยินดีนี้ข้าพเจ้านำความปรารถนาดีและพระพรของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมายังท่าน พระองค์ทรงรักท่านมากและทรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกับท่าน
    ในขณะที่เราชื่นชมยินดีและโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับวันอันน่าปลื้มวันนี้  การเฉลิมฉลองเป็นโอกาสเหมาะที่จะมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นและการเจริญเติบโตของพระศาสนจักรบนแผ่นดินนี้ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าสยาม
    มิสซังสยามก่อตั้งขึ้นในปี 1669 ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโดยตลอด  วันนี้เรามี 11 เขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) ในประเทศไทย (กรุงเทพ ท่าแร่-หนองแสง จันทบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นครสวรรค์ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และอุดรธานี) จำนวนสังฆมณฑลที่เพิ่มขึ้นควรมองว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการเจริญเติบโตของพระศาสนจักร แล้วเราต่างก็พากันชื่นชมยินดีและโมทนาคุณพระเจ้า  ยังเป็นเวลาแห่งความหวังและหน้าที่ของเราสำหรับอนาคตต่อไปด้วย
    ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรท้องถิ่นเริ่มต้นเมื่อธรรมทูตกลุ่มแรกเดินทางมาที่อยุธยาซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรสยาม เราระลึกถึงพร้อมกับความกตัญญูต่อการประกาศพระวรสารที่เริ่มต้นโดยธรรมทูตคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) จากนั้นธรรมทูตและนักบวชทั้งชายและหญิงคณะอื่นๆก็ตามมาซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันต่างๆ  ด้วยความร้อนรนที่จะแพร่ธรรมพวกเขาอุทิศตนเพื่อก่อตั้งพระศาสนจักรบนผืนแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่นี้
    การแพร่ธรรมที่เริ่มด้วยความร้อนรนของธรรมทูตเหล่านั้นต้องดำเนินต่อไป  งานนำพระวรสารและความรอดไปสู่ทุกคนเริ่มขึ้นแล้วโดยพระเยซูและถูกมอบหมายให้กับพระศาสนจักรนั้นยังห่างไกลจากความสำเร็จบริบูรณ์  ภาพทั่วไปแสดงให้เห็นว่าพันธกิจนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ดังนั้นเราทุกคนควรปวารณาตนด้วยเต็มใจที่จะทำพันธกิจแห่งการประกาศพระวรสาร
    การไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าไม่เกี่ยวกับกิจกรรมสงเคราะห์ การเงิน หรือเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวกับชีวิต ความเป็นอยู่ของเรา ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงต้องดำเนินไปตามที่พระคริสตเจ้าทรงมีพระประสงค์ “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต” (มธ. 28: 19)
    บทอ่านแรกของวันนี้เล่าเรื่องกิจการของอัครสาวกหลังการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระเยซูคริสตเจ้าไปสู่พระบิดา  บรรดาอัครสาวกออกไปประกาศพระวรสารด้วยอำนาจยิ่งใหญ่ปราศจากความกลัวใดๆ  พวกเขาเป็นประจักษ์พยานถึงการเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพของพระเยซู ถึงความรักความเมตตาของพระเจ้า แล้วจากนั้นก็เกิดมีชุมชนของผู้ที่มีความเชื่อที่เรียกกันว่าคริสตชน
    แต่บทอ่านที่สองเชิญเราทุกคนให้ “เข้าไปหาพระองค์ผู้เป็นศิลาทรงชีวิตที่มนุษย์ทิ้งขว้างแต่ได้รับการเลือกให้เป็นของมีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า และเฉกเช่นศิลาทรงชีวิตขอให้ชีวิตของท่านจงถูกสร้างขึ้นเป็นวิหารฝ่ายจิตเพื่อที่จะเป็นสมณศักดิ์สิทธิ์ถวายเครื่องบูชาอันเป็นที่สบพระทัยของพระเจ้าโดยอาศัยพระเยซูคริสตเจ้า”
     ยิ่งกว่านั้นในบทอ่านที่สองอัครสาวกเปโตรได้พูดถึงกระแสเรียกใหม่ของชุมชนคริสตชนว่าเป็น “ชนชาติที่ได้รับการเลือกสรร เป็นสมณศักดิ์สิทธิ์ เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ เป็นประชากรของพระองค์” เพื่อที่พวกเขาจะได้ “ประกาศ สรรเสริญพระองค์ผู้ทรงช่วยให้ท่านหลุดพ้นจากความมืดสู่แสงสว่างอันน่าอัศจรรย์ของพระองค์”
    ในพระวรสารวันนี้พระคริสตเจ้าผู้เสด็จกลับฟื้นพระชนม์ทรงเชื้อเชิญบรรดาศิษย์ให้อยู่ในพระองค์เพื่อพวกเขาจะได้บังเกิดผล “เราเป็นต้นองุ่น ท่านเป็นกิ่งก้าน ใครก็ตามที่ดำรงอยู่ในเรา เราก็ดำรงอยู่ในผู้นั้น เขาจะบังเกิดผลมาก เพราะปราศจากเรา ท่านไม่สามารถทำอะไรได้เลย”
    “จงดำรงอยู่ในเรา” พระองค์ต้องการจะบอกอะไรเรา?  พระองค์กำลังพูดกับใคร?  หรือให้ดีกว่านั้น พระองค์ตรัสกับใคร?  แน่นอนว่าพระองค์ตรัสกับบรรดาศิษย์ แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงตรัสกับเราด้วย  ความจริงแล้วพระวรสารมอบเนื้อหาให้เราและขอให้เราดำรงอยู่ในพระองค์  นี่หมายความว่า “ให้เรายึดติด” อยู่กับพระองค์  อันหมายถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้า  เราถูกเรียกให้เป็นมิตรของพระเยซูคริสต์
    ยิ่งไปกว่านั้นอีก “การดำรงอยู่ในเรา” หมายถึง “การขึ้นอยู่กับพระองค์”  ในฐานะคริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปเราขึ้นอยู่กับพระเยซูคริสต์ นั่นคือ การขึ้นดังกล่าวหมายถึงการมีส่วนร่วมในพันธกิจของพระเยซู เราถูกเรียกให้ทำการประกาศพระวรสารและเป็นพยานถึงพระวรสาร
    การคุ้นเคยใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้า การเป็นมิตรกับพระคริสตเจ้า หรือการขึ้นกับพระคริสตเจ้าเป็นคุณสมบัติจำเป็นสำหรับศิษย์ของพระองค์  บรรดาอัครสาวกมีความใกล้ชิดสนิทกับพระเยซู  พวกเขาเป็นมิตรสหายใกล้ชิดของพระองค์ พวกเขามีชีวิตอยู่กับพระองค์ พวกเขาร่วมเดินทางไปกับพระองค์เพื่อประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้า  พวกเขาสร้างครอบครัวของพระเยซู พวกเขาอยู่กับพระองค์ตลอด ประกาศพระวรสารของพระองค์และเป็นประจักษ์พยานต่อพระองค์
    เพราะฉะนั้นการเฉลิมฉลองวันนี้เป็นการเรียกเราทุกคนให้ดำรงอยู่ในพระเยซูดุจบรรดาอัครสาวก  เพื่อทำหน้าที่ประกาศพระวรสารเราต้องใกล้ชิดกับพระเยซู เราต้องสร้างความสนิทสนมกับพระองค์ เราต้องเป็นมิตรกับพระองค์  สุดท้ายเราต้องเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า
    งานประกาศพระวรสารเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับประเทศนี้  ท่ามกลางศาสนาและขนบธรรมเนียมฝ่ายจิตวิญญาณหลากหลายการเป็นประจักษ์พยานของท่านจะมีบทบาทสำคัญยิ่งซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้าใจถึงความเชื่อของคาทอลิก  ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปมีความรับผิดชอบในประเดนนี้เฉกเช่นคุณพ่อนิโคลัส บุญเกิด กิจบำรุงที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศีในปี ค.ศ. 2000  
    เป็นการดีที่จะรำลึกถึงสมัชชาครั้งแรกของพระศาสนจักรในประเทศไทยในปี ค.ศ. 2015 ที่มีการไตร่ตรองกันในหัวข้อ “ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่”  หัวข้อนี้ได้การคัดเลือกมาเพื่อฟื้นฟูพระศาสนจักรในประเทศไทยซึ่งเจริญชีวิตและทำพันธกิจในบริบทของศาสนาและวัฒนธรรมหลากหลาย  ท่าทั้งหลายถูกเรียกให้เป็นประจักษ์พยานแห่งความเป็นหนึ่งเดียวของศิษย์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่พระคริสตเจ้า  เพื่อที่คริสตชนทุกคนจะได้เป็นเกลือของแผ่นดินที่เปี่ยมด้วยแสงสว่างแท้จริงของพระคริสตเจ้า (มธ. 5: 13-14) เป็นแสงสว่างจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นองค์แห่งความรักที่มอบให้กับโลก (ยน. 1: 1ff)
    นักบุญฟรานซิสเซเวียร์องค์อุปถัมภ์ของมิสซังเป็นผู้ที่สมควรที่เราจะต้องให้ความสนใจ ท่านเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์เอเชีย ที่สำคัญคือ จากแบบฉบับความศักดิ์สิทธิ์และการเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสารแหงความรอดของท่าน  งานแพร่ธรรมของนักบุญฟรานซิสเซเวียร์ช่วยให้การแพร่ธรรมใสนทวีปนี้บังเกิดผล
    ในสมณลิขิตเตือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส สมณสาส์นเวียน Evangelii gaudium กล่าวว่า “เดชะศีลล้างบาป สมาชิกทุกคนแห่งประชากรของพระเจ้ากลายเป็นศิษย์ธรรมทูต ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปทุกคนไม่ว่าจะมีตำแหน่งอะไรในพระศาสนจักรหรือมีระดับความรู้เกี่ยวกับความเชื่อมากน้อยเพียงใด ล้วนเป็นหน่วยงานของการประกาศพระวรสาร และจะไม่เป็นการเพียงพอที่จะวางแผนการประกาศพระวรสารโดยคนที่เป็นมืออาชีพเท่านั้นในขณะที่สัตบุรุษอื่นๆเป็นได้แค่ผู้รับฟังเฉยๆ การประกาศพระวรสารใหม่เรียกร้องให้แต่ละคนที่ได้รับศีลล้างบาปมีส่วนร่วม คริสตชนทุกคนถูกท้าทาย ณ ตรงนี้และเดี๋ยวนี้ให้ต้องร่วมมือในการประกาศพระวรสารอย่างเข้มแข็ง  ซึ่งอันที่จริงแล้วใครก็ตามที่มีประสบการณ์อย่างแท้จริงกับความรักที่ไถ่กู้ของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากหรืออบรมยืดยาวเพื่อที่จะออกไปประกาศความรักดังกล่าว คริสตชนทุกคนเป็นธรรมทูตตราบเท่าที่พวกเขาประสบกับความรักของพระเจ้าในองค์พระเยซูคริสตเจ้า  เราจะไม่พูดอีกต่อไปว่าเราเป็น “ศิษย์” และ “ธรรมทูต” แต่เราจะเป็น “ศิษย์ธรรมทูต” เสมอ (ข้อ 120)
    เหตุการณ์นี้เป็นเวลาแห่งพระหรรษทาน  การเฉลิมฉลองนี้เป็นประจักษ์พยานถึงผลดีแห่ง 350 ปีของการประกาศพระวรสารในประเทศนี้ การเฉลิมฉลองอันสง่าน่าชื่นชมนี้จึงเป็นเวลาแห่งการปวารณาตนที่เราจะต้องเป็น “ศิษย์ธรรมทูต”
    เป้าหมายของการที่ข้าพเจ้ามาร่วมในการฉลองนี้ก็เพื่อที่จะเป็นกำลังใจให้ท่านเป็น “ศิษย์ธรรมทูต”  บริบทการอภิบาลในประเทศไทยเรียกร้องความร่วมมือส่วนตัวของท่าน ยังมีเป้าหมายอื่นอีกในการประกาศพระวรสารในประเทศอันเป็นที่รักของท่าน  พ่อประสงค์ที่จะขอร้องให้สัตบุรุษภาวนาขอกระแสเรียกเป็นบาดหลวงและนักบวชเพื่อพันธกิจของพระศาสนจักร  ขอให้สวดภาวนาเพื่อเป้าหมายนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสวดสายประคำภายในครอบครัว
    ให้เราโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระเมตตาของพระองค์ทรางเผยแสดงพระองค์ในองค์พระคริสตเจ้า  พระเจ้าทรงรักโลกมากจนกระทั่งส่งพระบุตรแต่พระองค์เดียวของพระองค์มาเป็นพระผู้ไถ่โลก  “พระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงสำแดงความรักยิ่งใหญ่ต่อเรา เมื่อเราตายไปแล้วเพราะการล่วงละเมิด พระองค์ก็ทรงบันดาลให้เรากลับมีชีวิตกับพระคริสตเจ้า ท่านได้รับความรอดพ้นก็เพราะพระหรรษทาน” (อฟ. 2: 4-5) พระเยซูคริสตเจ้าคือพระพักตร์มนุษย์แห่งความรักของพระเจ้าที่มีต่อโลก
    ในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทเราพบกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเสด็จกลับฟื้นพระชนม์ชีพ ให้เราอธิษฐานภาวนาขอให้เรามีหน้าที่ใหม่ในพันธกิจของพระคริสตเจ้าเพื่อที่ประเทศนี้จะได้เป็นดินแดนแห่งการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์
    ก่อนจบการไตร่ตรอง ขอให้กำลังใจท่านอีกครั้งหนึ่งในพันธกิจที่คู่ควรในฐานะที่เป็น “ศิษย์ของพระคริสตเจ้า เจริญชีวิตประกาศพระวรสารใหม่”  ขอพระเจ้าอวยพรความพยายามของท่าน  ขอฝากทุกท่านไว้ในคำเสนอวิงวอนของพระแม่มารีย์พรหมจารีดวงดาราแห่งการประกาศข่าวดีใหม่
    เดชะพระนามพระบิดา พระบุตร และพระจิต อาแมน


(วิษณุ ธัญญอนันต์ - ถอดความบทเทศน์ภาคภาษาไทย)

ภาพประกอบจาก เพจ บันทึก : ฉลองวัด

LINKS

www.ppoomm.v

http://www.catholicmission.org.au/http://www.missionsocieties.ca/www.pms-phil.orgwww.missio.org.mthttp://www.obrasmisionalespontificias.es/คณะธรรมทูตไทย

สถิติการเยี่ยมชม

14522918
Today
Yesterday
This Week
This Month
All days
813
426
1952
7940
14522918
Your IP: 44.192.16.60
2024-03-29 20:47